บริหารที่พักขนาดเล็กแบบต้นทุนต่ำ

Vtac Collaborator

บริหารที่พักขนาดเล็กแบบต้นทุนต่ำ

ทุนในการทําธุรกิจที่พัก มี 2 ประการ คือ ทุนภายนอกและทุนภายใน

ทุนภายนอก คือทุกสิ่งที่เราไม่ได้มีโดยกําเนิด ต้องใช้เงินชื้อหามาใครมีเงินมากก็ซื้อได้มาก ใครมีเงินน้อยก็ชื้อได้น้อย เช่น ที่ดิน อาคาร ที่นอนหมอนมุ่ง เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ฯลฯ ข้อนี้เรียกรวมๆ อีกอย่างว่า Hardware ซึ่งสามารถแข่งขันกันได้ไม่จบสิ้น

ส่วนทุนภายใน คือ ทุกสิ่งที่เรามีอยู่แล้วกับตัว หรือสิ่งที่เราทุกคนได้มาใช้ฟรีๆ ได้เท่าเทียมกัน เช่น จุดขาย การบริการ ชุมชน วัฒนธรรม บรรยากาศ ธรรมชาติ สายลม แสงแดด สายฝน ฯลฯ ที่ไม่ว่าเศรษฐี ยาจก ชาวนา หรือรัฐมนตรี ก็มีสิทธิ์ใช้เท่าเทียมกัน ข้อนี้เรียกรวมๆอีกอย่างว่า Software

ธุรกิจที่พักแบบเก่าแข่งขันกันด้วยทุนภายนอก ซึ่งแข่งด้วยความใหม่กว่าใหญ่กว่าทันสมัยกว่า สุดท้ายแล้วทําสินค้าที่เหมือนกันหมด ต่างกันเพียงแค่เปลือกห่อหุ้ม ในที่สุดทั้งหมดก็ก้าวเข้าสู่สงครามแห่งการตัดราคา เป็นการลงทุนจํานวนมากที่ได้ผลตอบแทนน้อยนิดลูกค้าไม่เห็นคุณค่าเพราะทําแต่สิ่งซ้ำซาก ไม่เคยนําเสนอคุณค่าใหม่ๆ หรือคิดถึงประโยชน์ของสังคม

ธุรกิจที่พักแบบสร้างสรรค์แข่งขันกันด้วยทุนภายใน บางครั้งเล็ก บางครั้งเก่า หลายครั้งภายนอกกลมกลืน ไม่มีความโดดเด่น แต่ภายในนําเสนอประสบการณ์ใหม่ในการเข้าพักโดยการพาเราไปในสถานที่ที่ไม่เคยไป พบกับคนประเภทที่เราไม่มีโอกาสได้สัมผัสมาก่อนที่สําคัญคือได้เปิดประตูบานใหม่ในการมองโลกและชีวิตให้กับเรา เพื่อบอกให้เราได้รู้ว่าจักรวาลนี้ยังมีอีกหลายเส้นทางให้ค้นหา

ธุรกิจที่พักแบบสร้างสรรค์ ลงทุนด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการจะเข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ได้ ต้องเริ่มด้วยการวางสิ่งที่เคยคิด แล้วให้ความเคารพ น้อมตัวลงต่ำ และมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งรอบตัว ตั้งแต่ต้นหญ้า กิ่งไม้ นกที่ส่งเสียงร้องสายลมที่พัดไหว แสงแดดที่สาดส่อง เพื่อนบ้านที่กําลังดูทีวี เสียงจากละครวิทยุ วินมอเตอร์ไซค์ พระที่กําลังบิณฑบาต ร้านข้าวแกงปากซอย ฯลฯ

เมื่อมองเห็นว่าทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนมีค่าก็จะมองเห็นวิธีที่จะเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้นี้คือกุญแจของการบริหารงานแบบต้นทุนต่ำ

การบริหารงานแบบต้นทุนตํ่า มีเป้าหมายหลัก คือ การลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้ โดยมีหลักการอยู่ 2 ข้อ คือ

หนึ่ง ลงทุนด้วยตัวเองให้น้อยที่สุด โดยยืมทุนจากรอบตัวมาใช้ให้มากที่สุด
สอง ลดรายจ่ายให้มากที่สุด โดยที่ไม่ได้ลดคุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า

ลงทุนด้วยตัวเองให้น้อยที่สุด โดยยืมทุนจากรอบตัวมาใช้ให้มากที่สุด

ที่พักแบบสร้างสรรค์ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบูติคโฮเต็ล โฮสเทล หรือโฮมสเตย์นั้น มีจุดเด่นข้อหนึ่งที่การลงทุนอสังหาฯ ชนิดอื่นไม่สามารถมีได้ก็คือ การแบ่งปันคุณค่าต่างๆ ให้กับสังคม ตามทฤษฎี 3 ห่วงทองคําของบูติคโฮเต็ล (ความคิดสร้างสรรค์ผลกําไรที่คุ้มค่า และคุณค่าต่อสังคม) จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามการแบ่งปันคุณค่านี้เกิดขึ้นได้ทั้ง
ในระดับพื้นฐาน เช่นการกระจายรายได้ผ่านการจ้างงาน
จนถึงระดับกลาง เช่น การประหยัด พลังงาน
ไปจนถึงระดับสูง เช่น การสร้างความภูมิใจในตัวตนและบ้านเกิด

การแบ่งปันเช่นนี้อีกด้านหนึ่งก็คือการยืมทุนรอบตัวมาใช้นั่นเอง เช่น ยืมแรงงาน ยืมพลังธรรมชาติ ยืมบรรยากาศในชุมชน การยืมทุนรอบตัวเหล่านี้มาใช้ทําให้ผู้ที่ลงทุนในธุรกิจประเภทนี้สามารถลงทุนได้ต่ําลง แต่กลับเก็บค่าที่พักได้สูงขึ้น เราจึงสามารถพบที่พักประเภทนี้ที่ประสบความสําเร็จเป็นอย่างสูง โดยทําในสิ่งที่ตรงข้ามกับกฎการลงทุนโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ในทําเลที่เลว การตกแต่งที่เชย และการลงทุนที่ต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกการใช้จ่ายจะสามารถถูกตัดทิ้งได้ทั้งหมด การลงทุนในหลายเรื่องยังเป็นสิ่งที่จําเป็น โดยมีหลักคิดคือ การลงทุนนั้นช่วยนําไปสู่รายได้ที่มากกว่าการไม่ลงทุนหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ค่าออกแบบตกแต่ง หรืองานกราฟฟิก อาจมีราคาหลายแสน แต่งานออกแบบที่ดีสามารถดึงดูดลูกค้าให้มาพักได้ รวมถึงขายได้ราคาดีกว่า บางครั้งกําไรจากไม่กี่เดือน ก็สามารถนํามาจ่ายค่าออกแบบได้แล้ว หรือค่าเรียนและค่าจ้างที่ปรึกษาที่มีมูลค่าสูง แต่สามารถช่วยเสนอทางเลือกในการตัดสินใจที่ดีกว่ามากได้ รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจ จึงเป็นเรืองที่สมควรลงทุน เป็นต้น

ลดรายจ่ายให้มากที่สุด โดยที่ไม่ได้ลดคุณค่าที่มอบให้กับลูกค้า

รายได้ของธุรกิจนี้มีมาจาก 3 ทางด้วยกัน คือ
หนึ่ง ค่าที่พัก
สอง ค่าอาหาร
สาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ขายทัวร์ ขายคอร์ส ขี่จักรยาน เกษตรอินทรีย์ นั่งสมาธิ อบรมการทําอาหาร คอร์สนวดและสปา คอร์สทําฟัน เสริมสวย หรือคอร์สสุขภาพฯลฯ
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะรายได้จากค่าที่พักเท่านั้น
ธุรกิจที่พัก มีข้อจํากัดอย่างหนึ่ง คือ เป็นสินค้าที่มีวันหมดอายุ
สมมติว่า ที่พักของคุณมีห้องอยู่ 5 ห้องวันที่ 1 ขายได้ 1 ห้องวันที่ 2 จํานวนห้อง ก็ยังมี5 ห้องเท่าเดิม แต่ไม่สามารถเอา 4 ห้องที่เหลือจากวันที่ 1 มาขายในวันถัดไปได้ เนื่องจากถือว่าสินค้าหมดอายุไปแล้ว หลักการเดียวกันกับเนื้อหมูที่หมดอายุแล้ว เราไม่สามารถนํามากินต่อได้ แตกต่างจากการขายเครื่องดื่ม ขายวันนี้ไม่ได้ก็เอาไปขายต่อในวัน ถัดไปได้ แต่ห้องพักใช้กันวันต่อวันเท่านั้น ถ้าหากขายไม่ได้ก็คือโอกาสที่สูญเสียไป ดังนั้น ความเสี่ยงจึงมีมากกว่า เพราะสินค้าสิ้นสุดแค่วันนั้นๆ เท่านั้น

บริการอย่างไรให้ไม่ขาดทุน หลักการง่ายๆ ก็คือ
หนึ่ง คุณต้องพยายามขายห้องต่อวันให้ได้มากที่สุด ให้มีห้องเหลือในแต่ละวันน้อยที่สุด
สอง ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มากที่สุด
ส่วนต่อไปเราจะพูดถึง การลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยไม่ได้ลดคุณค่าของที่พัก

ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตัดค่าใช้จ่ายอะไร วิธีคิดที่คุณต้องมี คือ

โฟกัสที่จุดขายของคุณ

เมื่อจุดขายมีความชัดเจน เราจะสามารถเลือกตัดองค์ประกอบหรือบริการที่ไม่มีผลลัพธ์ได้อย่างง่ายดาย อะไรที่ไม่ตอบสนองจุดขายหรือไม่ได้ช่วยให้จุดขายเด่นขึ้น สามารถตัดทิ้งหรือเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น Sarmsen5 Lodge เป็นที่พักแนวประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเปิดแอร์ก็เย็นได้ จึงออกแบบส่วนกลางให้เย็นโดยไม่ต้องมีแอร์ ทําให้เกิดการประหยัดหลังงานไฟฟ้าจนรายจ่ายรวมลดลงไปถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากมีขนาดเพียง 3 ห้อง จึงขายความเป็นส่วนตัว และเน้นสื่อสารกับลูกค้าที่ชอบความเงียบสงบ จึงออกแบบให้รับลูกค้าเฉพาะที่จองมาเท่านัน โดยไม่รับลูกค้า Walk-in (ลูกค้าที่มาโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า) ทําให้สามารถตัดส่วนของพนักงานต้อนรับที่ต้องมีอยู่ประจําออกไปได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นจํานวนมาก

รวมถึงการที่มีห้องจํานวนน้อย ไม่ต้องถูกหักค่าการตลาดจากการฝากขายตาม Online Travel Agency จึงขายผ่านการจองโดยตรงเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าเป็นการลดช่องทางการขาย แต่ก็เป็นการดึงให้ลูกค้าเข้ามาดูข้อมูลของที่พักได้โดยตรง เป็นการช่วยสื่อสารกับลูกค้าไปในตัว รวมถึงช่วยกรองลูกค้าให้เหมาะกับจุดขายเฉพาะที่มีอยู่ แต่วิธีนี้ควรใช้เฉพาะ เมื่อที่พักมีจํานวนห้องไม่มากไม่มีค่าใช้จ่ายประจํามาก และต้องเป็นที่รู้จัก ในระดับหนึ่งแล้ว

เมื่อตัดอะไรออกแล้ว ต้องสื่อสารให้ลูกค้ารับทราบว่าจะได้อะไร มาทดแทน

ยกตัวอย่างเช่น พระนครนอนเล่นไม่มีทีวีในห้อง ทั้งที่โรงแรมระดับเดียวกันมีทีวี แต่สิ่งที่ได้รับทดแทนคือ มีกิจกรรมให้ทํามากมายภายในบริเวณที่พัก และทางโรงแรมได้ สื่อสารกับลูกค้าถึงสาเหตุของการไม่มีทีวีเพราะต้องการให้ลูกค้าได้ชื่นชมกับวัฒนธรรม และกิจกรรมท้องถิ่นในเมืองไทย แทนที่จะใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวี วิธีนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ จํานวนมากแต่ยังคงคุณค่า (หรือแม้แต่เพิ่มคุณค่า) ของโรงแรมไว้

ถ้าตัดออกแล้ว สามารถมาเพิ่มทีหลังเมื่อมีความจําเป็นได้หรือไม่

เช่น ระบบคีย์การ์ดตัดไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดพลังงาน เป็นการลงทุนเพิ่มที่คุ้มค่า และต้องตัดสินใจตั้งแต่แรก ถ้าเพิ่มเติมภายหลังจะมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้น



Older Post Newer Post