(คลิปรายการจาก Design World - http://hiptv.mcot.net/player/hipPlayer.php?SelectSpeed=256k&id=23867 )
บ้านชั้นเดียว 3 ห้องนอนติดแอร์ 3 ห้องน้ำ 1 ห้องทำงาน มุมอ่านหนังสือ พร้อมห้องรับแขก กับค่าไฟเดือนละ 700 บาท !
บ้านชั้นเดียว 3 ห้องนอน (ติดแอร์คอนดิชั่น) 3 ห้องน้ำ 1 ห้องทำงาน พร้อมมุมรับประทานอาหาร มุมอ่านหนังสือและรับแขกขนาดกระทัดรัด
คุณคิดว่าเสียค่าไฟเดือนละเท่าไหร่ ?
"เจ็ดร้อยบาทครับ" เจ้าของบ้านยื่นใบเสร็จรับเงินเป็นพยาน ไม่อยากเชื่อ ก็ต้องขอให้เชื่อเพราะว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ออกแบบโดยใช้ไอเดียของ Super Green Studio บริษัทสถาปนิกที่ทำงานในแนว Passive Sustainable Architecture ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับวัฒนธรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างสรรค์ความงามด้านสถาปัตยกรรมในรูปแบบใหม่ๆ
"ประหยัดไฟ แอร์ เปิดช่องรับแสงสว่าง ทำให้ในเวลากลางวันเราไม่ต้องเปิดไฟเลยแม้แต่จุดเดียว" วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ เจ้าของบริษัท Supergreen Studio และ อาจารย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อรรถาธิบายถึงบ้านหลังใหม่ที่เปิดเป็นออฟฟิศสถาปนิก และโรงแรมขนาด 3 ห้องนอน ในนาม Samsen 5 Lodge Bangkok ตั้งอยู่ในซอยสามเสน 5 ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมานี้เอง
"บ้านหลังนี้สร้างขึ้นมาใหม่ในส่วนที่จอดรถของบริเวณบ้านเดิมซึ่งตั้งอยู่ด้านหลัง พื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผมออกแบบให้เป็นห้องนอน 3 ห้องมีห้องน้ำในตัว มีสวนอยู่ตรงกลางระหว่างห้องทั้ง 3 ห้อง แบ่งส่วนหนึ่งเป็นห้องทำงานของสถาปนิก มีโต๊ะประชุมซึ่งใช้เป็นโต๊ะรับประทานอาหารเช้าของแขกได้ด้วย มีมุมรับแขก นั่งเล่นเล็กๆ และโต๊ะวางบุฟเฟ่ต์อาหารเช้าให้แขกที่มาพัก"
ประตู หน้าต่างไม้เก่า เปิดรับช่องแสงและทางลม คือ สิ่งที่เรามองเห็นในห้องทุกห้อง เช่นเดียวกับฉากกันไม้ฉลุบริเวณผนังและเพดานที่ต้องการแสงสว่าง ประกอบกับการตกแต่งที่เลือกสรรวัสดุที่กลมกลืนกับบ้านเก่าในละแวกสามเสน ชวนให้รู้สึกราวกับเดินเข้าไปในบ้านรุ่นปู่ย่าที่เพียงเข้าไปแล้วรู้สึกสบาย โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด
"เพราะสถานที่ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของกรุงเทพฯ ผมจึงนำเอารูปแบบการตกแต่งในสไตล์อินโด - ไชน่า เข้ามาใช้ ห้องพักทั้ง 3 ห้อง แบ่งออกเป็น ห้องจีน ภายในตกแต่งด้วยศิลปะวัตถุที่ผสมผสานความเป็นเอเชีย มีทั้งเฟอร์นิเจอร์จีน ของตกแต่งจากอีสาน ผ้าอินโดนีเซีย ห้องคอร์ทยาร์ด ที่มองเห็นพื้นที่สวนกว้างที่สุด เหมาะสำหรับคู่รักผู้ใหญ่หน่อย บรรยากาศค่อนข้างโคซี่ และ ห้องเลิฟเวอร์ พื้นที่เล็กหน่อยเหมาะสำหรับคู่รักวัยรุ่น ทุกห้องดีไซน์ให้เปิดหน้าต่างรับลมได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ ส่วนห้องน้ำก็เน้นไอเดียแสงแดด ลมพัด "
วรพันธุ์ ตอบข้อสงสัยที่เปิดโรงและออฟฟิศสถาปนิกในสถานที่เดียวกันว่า
"ผมต้องการให้โรงแรมเป็นโชว์รูม ที่แสดงให้เห็นไอเดียกรีน ที่ใช้ได้กับบ้านจริงๆ ในส่วนออฟฟิศก็เป็นกรีนออฟฟิศที่ตอนกลางวันไม่ต้องเปิดไฟ ไม่ใช้แอร์ ผมคิดว่าที่นี่คงเป็นออฟฟิศสถาปนิกแห่งเดียวในกรุงเทพฯที่ไม่ติดแอร์"
บ้านและที่ทำงานในกรุงเทพฯ ถ้าอยากอยู่สบายไม่ต้องอาศัยแอร์จะเป็นอย่างไร เขาตอบข้อสงสัยด้วยการสร้าง Samsen 5 Lodge Bangkok ขึ้นมาให้เห็น และทดลองใช้งานได้จริง ยืนยันด้วยใบเสร็จค่าไฟฟ้าในหนึ่งเดือน ซึ่งมีแขกเข้าพักประมาณ 20 ราย
"ตกกลางคืน ฝรั่งเขาจะไม่ค่อยเปิดแอร์นะ เพราะเขาจะเปิดหน้าต่าง ลมที่พัดมาจากสวนเย็นขนาดถึงห่มผ้า" ในฐานะสถาปนิกเขาบอกว่า
"เรื่องกรีนกับแอร์ ผมคิดว่าพลังงานเป็นสมบัติของทุกคน ดังนั้นอาชีพแรกที่ควรรับผิดชอบคือสถาปนิกเพราะว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ออกแบบบ้าน ปัญหาคือประชาชนทั้งประเทศไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด ถูกล้างสมองว่าเราต้องติดแอร์มันถึงจะเย็น ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ในฐานะผู้ออกแบบเรารู้ว่าเวลาที่เราจะออกแบบบ้านสักหลัง เป็นการง่ายมากที่จะติดแอร์เพื่อทำให้บ้านเย็น ในขณะที่เราควรทำอย่างไรที่เราจะออกแบบบ้านให้ถูกหลักโดยที่เย็นโดยไม่ต้องติดแอร์"
แนวทางการออกแบบบ้านให้อยู่แล้วเย็น วรพันธุ์บอกว่า "ปัญหาแรกที่บ้านร้อนก็คือแปลนบ้านผิดหลักภูมิประเทศ อย่างเช่น มีผนังอยู่ขวางทางลม ขวางทางที่แดดส่องถึง การแก้ไขเบื้องต้น คือ การเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น
ติดตั้งอุปกรณ์พื้นฐานเช่นพัดลมดูดอากาศ และพัดลม ไม่ใช่แอร์ พัดลมพัดลมดูดอากาศจะทำให้อากาศรอบๆตัวคนเคลื่อนที่ช้า เป็นลมเอื่อยๆที่ทำให้รู้สึกสบาย พัดลมบางทีมันแรงไปรบกวนความเป็นอยู่ของเรา การติดพัดลมดูดอากาศในบ้านจะช่วยให้ลมพัดผ่านไปได้สะดวก
สุดท้ายคือ การวางตำแหน่งต้นไม้ และ น้ำ ควรอยู่ในทิศที่ลมพัดผ่าน ปกติลมประจำในเมืองไทยจะมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดเข้าบ้าน 7-8 เดือนในแต่ละปี นี่คือลมประจำที่ใช้ในการออกแบบ แต่บ้านบางหลัง โดยเฉพาะในเมืองหลวงบังคับไม่ได้ มันเป็นรายละเอียดที่เราแก้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้แอร์ " ซึ่งต้องดูในรายละเอียดของแต่ละสถานที่
"ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญนะครับ เพราะเริ่มจากบ้านก็นำไปสู่ชุมชน เป็นเมืองและเป็นประเทศได้ การเริ่มจากบ้านมันได้ผลมากกว่าการเริ่มจากองค์กรใหญ่ๆ ต่อให้รัฐบอกว่าช่วยประหยัดไฟกันหน่อย แต่ตึกสูงๆมันออกแบบมาให้สอดคล้องกับการติดแอร์ แล้วจะช่วยกันปิดไฟได้อย่างไร"
สำหรับผลงานสร้างสรรค์ไอเดียกรีน โดยซูเปอร์กรีน สตูดิโอ ที่ผ่านมาได้แก่ ผลงานรีโนเวทอาคารพรีเมียร์ถนนพระราม 9 เดิมเป็นตึกกระจกสร้างเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แสงเข้ามากเกินไป
"ปัจจุบันอยู่ไม่ได้ เพราะมันร้อน ตอนทำกระจกคิดว่าแสงเข้า แต่มันเยอะมากจนพนักงานต้องเอากระดาษเข้าไปปิด มันก็เลยต้องเปิดไฟเพื่อแสงสว่าง เขาก็เลยให้เราดีไซน์รีโนเวท โดยที่เขาไม่ต้องมูฟออก เราเลยทำเป็นแผงกรองแดดไฟเบอร์แล้วนำไปติดตั้ง"
นอกจากนั้นเป็น โครงการที่พักผู้แสวงบุญ ณ สวนเชตวัน รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ปีออกแบบ 2550 ประกอบไปด้วย ที่พักสำหรับ พระสงฆ์, ผู้แสวงบุญ, โรงทาน และอาคารเอนก ประสงค์เพื่อสวดมนต์และปฏิบัติธรรม
โครงการปรับปรุงบ้านเยาวชนนานาชาติกรุงเทพ บ้านเยาวชนกรุงเทพเป็นอาคารบ้านเยาวชน แห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2530 ,ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร มหาวิทยาลัย ขอนแก่น, โครงการท่าเทียบเรือกรมหลวงชุมพรโครงการท่าเทียบเรือสลักเพชรและบางเบ้า ,โครงการหมู่บ้านช้างต้นแบบ เป็นต้น
สนใจอยากชมบ้านอยู่เย็นไอเดียกรีนที่ทำได้จริง สามารถแวะไปชมบ้านหลังน้อย Samsen 5 Lodge Bangkok ถนนสามเสนซอย 5 เขตพระนคร โทร.086-700-5530,02-628-9799 www.supergreenstudio.com
==================================================
วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ น้องชายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและระดับปริญญาโทด้าน Urban Design จาก School of Planning and Architecture, New Delhi ที่ประเทศอินเดีย ด้วยทุนรัฐบาลอินเดียในปี2001
อดีตบรรณาธิการวารสารอาษา และสถาปนิกไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Emerging Architecture Award จัดโดยวารสาร Architectural Review เมื่อ ค.ศ.2001 รวมทั้งรางวัลจากการประกวดออกแบบมากมาย ได้แก่ รางวัล Emerging Architecture Award 2001 - Balloon Pavilion Project เป็นโครงการทดลองสร้างอาคารสมัยใหม่ด้วยแรงน้ำและแรงลม , รางวัล Difference Design Awards 2006 - Bamboo Pavilion เป็นศาลาที่ทำจากต้นไผ่และโครงขึงผ้าใบ เป็นต้น