HOW TO HOMESTAY

Natthika Wanglabcharoen

HOW TO > HOMESTAY
อยากทำ โฮมสเตย์ ให้สำเร็จ ต้องอ่านสิ่งนี้

สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนและมีความฝันว่าจะทำธุรกิจโฮมสเตย์เป็นกิจการเล็ก ๆ ของตัวเอง และสำหรับผู้ที่ทำไปแล้วแต่ยังกลุ้มใจกับการขอใบอนุญาตก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้อง

ความหมายของ โฮมสเตย์ (Home Stay)

โฮมสเตย์  หมายถึง การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวจะต้องพักรวมกับเจ้าของบ้านชายคาเดียวกัน โดยมีห้องพักหรือพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเหลือสามารถนำมาดัดแปลงให้นักท่องเที่ยวได้พักชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คนโดยมีค่าตอบแทน และจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม ซึ่งเป็นไปตามบทนิยามคำว่า “โรงแรม” แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว ตามหลักเกณฑ์ที่กรมการท่องเที่ยวกำหนด

 

ประเภทของโฮมสเตย์

  • โฮมสเตย์ทั่วไป
  • โฮมสเตย์ตามมาตรฐานกรมการท่องเที่ยว 

ในปัจจุบันนี้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน เพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม หัตถกรรมของท้องถิ่น โดยโฮมสเตย์มีความหมายมากกว่าการ “ เป็นที่พัก”  เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ยึดเอารูปแบบ ที่พักเป็นศูนย์กลางและจัดให้มีกิจกรรมในด้านต่างๆ ตามความต้องการของ นักท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย  วิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบทถือว่าเป็นจุดขายที่สำคัญที่นักท่องเที่ยว ให้ความสนใจ การจัดกิจกรรมที่พักและได้สัมผัสกับวัฒนธรรมชนบท จึงเป็นแรงดึงดูดให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในแหล่งชุมชนซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกในตลาดท้องถิ่น

บริการที่เสนอให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาในการพัฒนาโฮมสเตย์ มีดังนี้

  • วิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท
  • วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
  • ความปลอดภัย
  • ความสะอาด
  • ห้องพักพร้อมอาหาร
  • กิจกรรมทางการท่องเที่ยว

 

การจัดการโฮมสเตย์

การจัดกิจกรรมที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท ควรที่จะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งในรูปของกลุ่ม/ชมรม/สหกรณ์ ซึ่งสมาชิกและคนในชุมชนจะต้องมีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในด้านการจัดการ

 

การจัดการบ้านพัก (Accommodation)

แบบที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

  • ความเต็มใจของสมาชิกในครอบครัวต่อการรับผู้มาเยือน
  • บ้านพักมีโครงสร้างที่ดี
  • ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี
  • ไม่ไกลจากเมืองหรือพื้นที่เทศกาลหรือสถานที่ท่องเที่ยว
  • ควรมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐาน อาทิ
  • ที่นอน หรือเตียงนอน
  • หมอน
  • น้ำประปาหรือถ้าไม่มีควรมีแหล่งน้ำอื่น ๆ
  • ห้องน้ำสะอาด
  • มีความปลอดภัย

 

ขั้นตอนการดูแลที่พัก (Home Keeping Produce)

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยว ควรมีการทำความสะอาดที่พักและบริเวณโดยรอบบ้านพักอยู่เสมอ อาทิ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน อุปกรณ์สำหรับการนอนส่วนตัวทุกครั้งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าพัก เป็นต้น

 

ความสะอาดของบ้าน

  • บ้านพักควรมีอากาศที่สามารถถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างสามารถส่องเข้ามาถึงปราศจากความชื้นไม่มีกลิ่นอับ มีหลังคาที่สามารถกันน้ำได้ดี ภายในห้องพักต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำ
  • ต้องมีการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์ส่วนตัวสำหรับแขกทุกครั้งหรือเมื่อมีแขกคนใหม่เข้ามาพัก
  • ต้องหมั่นกำจัดแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่เสมอ
  • ห้องน้ำจะเป็นห้องที่แขกจะมาร่วมใช้ด้วย ดังนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดส่วนตัวสำหรับแขก (กรณีที่แขกไม่ได้เตรียมมา) และจะต้องมีการทำความสะอาดเป็นประจำ
  • หมั่นดูแลสภาพแวดล้อมของบ้านพักอยู่เสมอ

 

การจัดการห้องน้ำ(The Bathroom)

ห้องน้ำจะเป็นที่ ๆ ใช้ร่วมกันทั้งครอบครัวและนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญก็คือ ความสะอาด จะต้องมีการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอ

 

ความปลอดภัย

ความปลอดภัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่พักเชิงวัฒนธรรมลักษณะสัมผัสชนบท ดังนั้น ชมรม/กลุ่ม มวลสมาชิก ควรมีการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น การจัดอบรมให้กับสมาชิกของชุมชนในการให้การป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ หรือการแก้ไขหากเกิดอุบัติเหตุ การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือองค์การบริหารท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ การจัดตั้งเวรยามของชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เจ้าของบ้านจึงจะต้องมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของแขกด้วย

ทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว

  • ต้องมีการดูแลและซ่อมแซมระบบล็อคต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา อาทิ ประตู หน้าต่าง
  • ถ้าเห็นนักท่องเที่ยวไม่เก็บทรัพย์สินไว้ในที่ที่ปลอดภัย ต้องเข้าไปเตือน
  • ถ้านักท่องเที่ยวลืมทรัพย์สินไว้ในบ้านพักหรือที่อื่น ๆ ภายหลังการเดินทางกลับ เจ้าของบ้านควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยและพยายามติดต่อเจ้าของเพื่อมารับคืน

ความปลอดภัยของที่พัก

  • สมาชิกในบ้านต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้มาเยือน เสมือนญาติสนิท และมีความรู้เรื่องสถานที่ในบ้านและชุมชนเป็นอย่างดี
  • สมาชิกในบ้านต้องหมั่นตรวจตรา ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้านว่ามีความปลอดภัยหรือไม่
  • กุญแจที่สำคัญต้องได้รับการเก็บรักษาและดูแลเป็นอย่าดี
  • ทรัพย์สิน เงินสดต่าง ๆ ต้องเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
  • สมาชิกทุกคนต้องคำนึงถึงเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยตลอดเวลา

 

การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว

วัฒนธรรม จารีต ประเพณี และความเชื่อ ของแต่ละชุมชนอาจแตกต่างกัน การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ การแต่งกาย การนอน การกำหนดเวลาการเข้าออกบ้านพัก จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อมิก่อให้เกิดปัญหาที่ขัดต่อวัฒนธรรม จารีต ประเพณีและความเชื่อของชุมชน  นักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับและปฎิบัติตาม ทั้งนี้ควรมีการชี้แจงในขั้นตอนการจองหรือลงทะเบียนการเข้าพัก กรณีที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถปฎิบัติได้ ก็สามารถที่จะปฏิเสธการเข้าพักได้เช่นเดียวกัน

 

การต้อนรับ (Reception)

คนไทยเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” การต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจญาติมิตรจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกอบอุ่น ควรมีการจัดพื้นที่ต้อนรับในลักษณะจุดศูนย์กลางของชุมชน เพื่อดำเนินการต้อนรับ ลงทะเบียนการเข้าพัก หรือการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว การต้อนรับ อาจให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมประจำถิ่น เช่น ภาคอีสาน/เหนือ ต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ หรืออาจจะเป็นช่อดอกไม้ พวงมาลัยเล็ก ๆ ที่สามารถหาได้จากท้องถิ่นมอบให้กับนักท่องเที่ยว ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจได้เมื่อเริ่มเข้าสู่ชุมชน

 

การจองที่พัก (Reservation)

การจองที่พักสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การจองทางไปรษณีย์ การจองทางโทรศัพท์ การจองผ่านเครือข่าย internet การจองที่พักควรได้รับการตอบสนองโดยทันที เพื่อเป็นการยืนยันการเข้าพักของนักท่องเที่ยวและถ้ามีเวลาเตรียมการ ผู้ประสานงานควรจะส่งรายละเอียดให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อศึกษาก่อนการเข้าพัก ทั้งนี้ควรแจ้งข้อมูลรายละเอียด ให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานในประเทศที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้รับทราบเพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปรับทราบได้

 

ขั้นตอนการจองห้องพัก มีดังนี้

  • จัดบ้านพักตามลำดับ
  • ตอบรับการจอง อาจจะมีการใช้ระบบการเรียกเก็บค่าบริการบางส่วน เพื่อเป็นการป้องกันการไม่เข้าพักของนักท่องเที่ยวตามกำหนดเวลา ดังนั้นควรชี้แจงระยะการยกเลิกเข้าพักให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบด้วย
  • เก็บรักษาข้อมูลการจองสำหรับการลงทะเบียนเข้าพักต่อไป

 

การลงทะเบียน (Registration)

ในธุรกิจโรงแรมที่พัก ผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานและอ้างอิงในอนาคต ส่วนในลักษณะที่พักแบบโฮมสเตย์ การลงทะเบียนอาจไม่ต้องเป็นรูปแบบเหมือนธุรกิจโรงแรม แต่ควรเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบง่าย ๆ

ความสำคัญของการลงทะเบียน

  • ทำให้เจ้าของบ้านทราบข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว
  • ช่วยในการจัดเตรียมบ้านพัก
  • ทำให้ทราบวันออกจากที่พักของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ข้อมูลนี้มีความจำเป็นเพราะจะทำให้

กลุ่ม/ชมรม สามารถวางแผนการเข้าพักของแขกในลำดับต่อ ๆ ไปได้

  • เป็นข้อมูลการเข้าพักให้ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ประพฤติมิชอบหรือการหลบซ่อนของอาชญากรได้

 

ขั้นตอนการต้อนรับและลงทะเบียน

  • ต้อนรับด้วยรอยยิ้มดุจญาติมิตร แจ้งรายละเอียดค่าธรรมเนียมการเข้าพักและบริการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวทราบ
  • ให้นักท่องเที่ยวกรอกรายละเอียดและลงชื่อในใบลงทะเบียนการเข้าพัก
  • แจ้งรายละเอียดที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับข้อมูลของชุมชนและสภาพทั่วไป
  • นำนักท่องเที่ยวไปยังบ้านพัก

การบริการอาหาร

เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องพักกับเจ้าของบ้าน อาหารมื้อใดมื้อหนึ่งจึงมีความจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว การนำเสนอรายการอาหารท้องถิ่นจึงเป็นเสน่ห์และจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ มากกว่าการนำเสนอรายการอาหาร เช่นเดียวกับโรงแรมหรือรีสอร์ท ดังนั้นการวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดระหว่างปริมาณอาหารและจำนวนนักท่องเที่ยว

การวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ ประการ ดังนี้

  • ข้อมูลของนักท่องเที่ยว เช่น เชื้อชาติ ศาสนา
  • งบประมาณในการจัดทำอาหาร
  • ปัจจัยด้านฤดูกาล
  • อาหารประจำท้องถิ่น
  • จำนวนนักท่องเที่ยว

 

มาตรฐานโฮมสเตย์

มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย หรือที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบทมาตรฐานไทย หมายถึง บ้านที่อยู่ในชุมชนชนบทที่มีประชาชนในชุมชนเป็นเจ้าของ และเจ้าของบ้านหรือสมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ประจำ หรือใช้ชีวิต ประจำวันอยู่ในบ้านดังกล่าว นอกจากนี้ บ้านดังกล่าวต้องมีความพร้อมในการเป็นโฮมสเตย์ โดยมีคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้น 6 ประการ ดังนี้

  1. เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวต้องถือว่าการทำโฮมสเตย์เป็นเพียงรายได้เสริมนอกเหนือรายได้จากอาชีพหลักของครอบครัวเท่านั้น
  2. มีห้องพักหรือพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเหลือและไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำมาดัดแปลงให้นักท่องเที่ยวเข้าพักได้
  3. นักท่องเที่ยวต้องเข้าพักค้างแรมในชายคาเดียวกับที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ โดยมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตระหว่างกัน
  4. สมาชิกในครอบครัวต้องมีความยินดีและเต็มใจที่จะรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาพักค้างแรมในชายคา เดียวกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นนั้นแก่นักท่องเที่ยว
  5. เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวให้ความร่วมมือกับชุมชนในการจัดการโฮมสเตย์เป็นอย่างดี
  6. บ้านนั้นต้องเป็นสมาชิกของกลุ่ม ชมรม หรือสหกรณ์ ที่ร่วมกันจัดการโฮมสเตย์ของชุมชนนั้น

 

มติหลักเกณฑ์การพิจารณาโฮมสเตย์ของคณะกรรมการมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย

  1. ต้องมีคุณสมบัติโฮมสเตย์เบื้องต้น 6 ประการ ครบถ้วน
  2. จำนวนหลังคาเรือนที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม/ชมรม/สหกรณ์โฮมสเตย์อย่างน้อย 3 หลังคาเรือนขึ้นไป
  3. บ้านที่ขอรับการประเมินทุกหลังต้องมีเลขที่บ้านที่ออกให้โดยส่วนราชการ
  4. ที่ตั้งของชุมชนหรือกลุ่มโฮมสเตย์หรือบ้านพักต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์  เช่น  อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
  5. ดำเนินการจัดทำโฮมสเตย์ตามข้อกำหนดมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

การใช้ตราสัญลักษณ์และระยะเวลาการใช้

  1. การติดตั้งตราสัญลักษณ์ในโฮมสเตย์ จะต้องติดตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
  2. ตราสัญลักษณ์ที่โฮมสเตย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีอายุคราวละ 2 ปี เมื่อหมดอายุจะต้องยื่นใบสมัครขอรับการประเมินโฮมสเตย์ใหม่
  3. หากผู้ประกอบการโฮมสเตย์รายใดใช้ตราสัญลักษณ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือจัดทำขึ้นใช้เองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของกรมการท่องเที่ยว  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  จะมีความผิดตามกฎหมาย

 

เครื่องหมายหรือรูปตราสัญญาลักษณ์ ที่มีลักษณะหลังคาทรงไทยลายกลอน อยู่บนตัวอักษร Home Stay Standard Thailand ตามรูปที่ปรากฏนี้

 

  • หลังคาทรงไทยลายกลอน มีสีน้ำตาลใช้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงถึงโฮมสเตย์ที่อยู่ในชนบทของไทย
  • ตัวอักษร Home Stay มีสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะพักรวมกับเจ้าของบ้านในบ้านหลังเดียวกัน
  • ตัวอักษร Standard Thailand มีสีแดง หมายถึง ใช้ยืนยันว่าเป็นโฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐานของประเทศไทย

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อขอมาตรฐานโฮมสเตย์ได้ที่ มาตรฐานการท่องเที่ยวที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท (HOMESTAY) กรมการท่องเที่ยว  154 สนามกีฬาแห่งชาติ ถ.พระราม 1 เขตปทุมวัน กทม. 10330

โทร/แฟกซ์ 02-216-6512

 

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโฮมสเตย์

โฮมสเตย์ จัดกว่าเป็น สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามที่ระบุในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวง ดังนี้

การกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

หมวดที่ 1 สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทโรงแรม

ข้อ 1.   ให้สถานที่พัก มีห้องพักในอาคารเดียวกัน หรือหลายอาคารรวมกันไม่เกิน 4 ห้องและมีผู้พักรวมกันไม่เกินทั้งหมด 20 คนตั้งขึ้น เพื่อบริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทาง โดยมีค่าตอบแทน ที่มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และได้แจ้งนายทะเบียนทราบ ไม่เป็นโรงแรม (3) ของนิยามคำว่าโรงแรมในมาตรา 4

หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นคำขอ และในการพิจารณาอนุญาต

ผู้ใดประสงค์จะยื่นคำขอแบบหนังสือแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม จะต้องเป็นสถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกินสี่ห้อง และมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

ผู้ที่จะขอรับแบบหนังสือแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
  3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  5. ไม่เป็นบุคคลคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  7. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
  8. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
  9. ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยเหตุอื่นที่มิใช่เหตุตาม (6) แต่เวลาได้ล่วงพ้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี

(ทั้งนี้ จะมีการแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่พิจารณาแล้วเสร็จ)

เอกสารและหลักฐานประกอบ

  1. บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาจำนวน 1 ฉบับ (เอกสารยืนยันตัวตน)
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาจำนวน 1 ฉบับ (เอกสารยืนยันตัวตน)
  3. หนังสือแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 เอกสารต้นฉบับจำนวน 1 ฉบับ (เอกสารเพิ่มเติม คลิ๊กดาวน์โหลดได้ที่นี่ ↓)
  4. หลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร หรือหนังสือแสดงความยินยอมให้ใช้อาคารหรือสถานที่ที่ขออนุญาตประกอบกิจการพาณิชย์ในกรณีที่อาคารหรือสถานที่นั้นเป็นของผู้อื่น สำเนาจำนวน 1 ฉบับ เช่น (เอกสารเพิ่มเติม)
  5. หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำเนาจำนวน 1 ฉบับ

(เอกสารเพิ่มเติม)

 

  1. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม เอกสารต้นฉบับจำนวน 1 ฉบับ (เอกสารเพิ่มเติม)
  2. รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

 

สามารถขอออกหนังสือ แจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมได้ที่

  • เขตกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอได้ที่ ส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โทร 02-3569559
  • ต่างจังหวัด ยื่นคำขอได้ที่ ที่ว่าการอำเภอที่สถานที่พักนั้นตั้งอยู่

*** ไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

*** หากไม่จดแจ้งจะมีความผิด ฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

ที่ ส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง (วังไชยา) ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โทร 023569559 www.dopa.go.th 

 

และสำหรับทุกท่านที่สนใจ หรือกำลังเริ่มต้นลงทุนในกิจการบูติคโฮเต็ล โรงแรมเล็ก และ โฮสเทล เราขอแนะนำชุดหนังสือ ที่รวบทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนลงมือทำบูติกโฮเต็ล โฮสเทล และโฮมสเตย์ในฝันให้ประสบความสำเร็จ ถ่ายทอดโดยตรงจากนักบริหารการโรงแรมมากประสบการณ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จโรงแรมเล็กชั้นนำหลายแห่ง เริ่มจากแบบสำรวจตัวเอง การวิเคราะห์การลงทุน แนวคิดรูปแบบที่โดดเด่นน่าดึงดูด เงินลงทุน แหล่งเงินทุน กระบวนการวางแผนก่อนเปิดบริการ ลูกค้า การสือสาร รวมถึงวิธีการที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจในบริการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคม นำเสนอด้วยสำนวนภาษาเข้าใจง่าย ช่วยให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จเร็วขึ้นไปอีกขั้น

(ราคาพิเศษวันนี้ เมื่อซื้อเป็นชุด) สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทาง https://theboutiqueking.com/collections/books-cd 

 

#SocialBusiness

#SocialEnterprize

----- ขอบคุณข้อมูล

  • เอกสารประกอบการจัดการความรู้ด้านการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ กลุ่มงานส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น
  • มาตรฐานโฮมสเตย์ http://www.homestaythai.net
  • A-LISA

 

 

#เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเตล

#homemadestay

#theboutiqueking

 #Homestay

#การสร้างโรงแรม

#ธุรกิจโรงแรม

#บริหารโรงแรม



Older Post Newer Post